ทำความรู้จักตู้ MDB (Main Distribution Board)

ในสถานที่ที่มีการใช้ไฟจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นหอพัก ห้างสรรพสินค้า โรงแรม โรงพยาบาล หรือโรงงานอุตสาหกรรม จะต้องมีตู้ควบคุมระบบไฟฟ้าหลัก หรือที่เรียกกันว่าตู้ MDB เพื่อควบคุมการจ่ายไฟให้กับอุปกรณ์ต่าง ๆ ในสถานที่นั้น ๆ อ่านมาถึงตรงนี้ใครที่สงสัยว่าตู้ MDB คืออะไร ทำหน้าที่อะไรบ้าง สามารถหาคำตอบได้ในบทความนี้

ตู้ MDB คืออะไร

ตู้ MDB (Main Distribution Board) คือ ตู้ควบคุมระบบไฟฟ้าหลัก ทำหน้าที่ควบคุมการรับไฟฟ้าจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและจ่ายไปยังส่วนอื่น ๆ ของอาคาร รวมทั้งป้องกันความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดจากความผิดปกติของระบบไฟฟ้า ซึ่งตู้ MDB นิยมใช้ในสถานที่ที่มีการใช้ไฟในปริมาณมาก เช่น อาคารขนาดกลาง อาคารขนาดใหญ่ โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น

ตู้ MDB มีกี่แบบ

ตู้ MDB มีทั้งแบบ 1 เฟสและ 3 เฟส ดังนี้

ตู้ MDB 1 เฟส

ตู้ MDB 1 เฟส มีแรงดันไฟฟ้าประมาณ 220-240 โวลต์ เหมาะใช้กับระบบไฟฟ้าขนาดเล็กถึงปานกลาง เช่น บ้านพักอาศัย สำนักงาน ร้านค้า หรืออาคารขนาดเล็ก ข้อดีของ ตู้ MDB 1 เฟส คือ ติดตั้งง่าย ราคาถูกกว่าตู้ 3 เฟส และต้องการการบำรุงรักษาที่น้อยกว่า

ตู้ MDB 3 เฟส

ตู้ MDB 3 เฟส มีแรงดันไฟฟ้าประมาณ 380-415 โวลต์ เหมาะใช้กับระบบไฟฟ้าขนาดใหญ่ เช่น อาคารพาณิชย์ โรงงาน หรืออาคารขนาดใหญ่ โดยนิยมใช้จ่ายไฟฟ้าให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ หรืออุปกรณ์ที่ต้องการกระแสไฟฟ้ามาก ข้อดีของ ตู้ MDB 3 เฟส คือ มีความเสถียร จ่ายพลังงานไฟฟ้าได้มากและสม่ำเสมอ

ตู้ MDB ทําหน้าที่อะไร

หน้าที่ของตู้ MDB

นอกจากหน้าที่ควบคุมการจ่ายกำลังไฟฟ้า ตู้ MDB ยังมีหน้าที่อื่น ๆ ดังนี้

1. รับและแจกจ่ายกำลังไฟฟ้า

หน้าที่แรกของตู้ MDB คือ การแจกจ่ายกำลังไฟฟ้า โดยระบบการทำงานของตู้ MDB จะเริ่มต้นจากรับกระแสไฟฟ้าแรงสูงมาจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โดยกระแสไฟฟ้าแรงสูงนี้จะมีแรงดันอยู่ที่ 380 โวลต์ ซึ่งเป็นกำลังไฟฟ้าที่เราไม่สามารถใช้งานได้ จึงต้องนำกระแสไฟฟ้ามาลดแรงดันให้เหลือ 220 โวลต์ จากนั้นจึงทำการแจกจ่ายกระแสไฟฟ้าจากตู้ไปสวิตช์หรือแผงไฟที่อยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ของอาคาร

2. แสดงสถานะการทำงาน

หน้าที่ต่อมาของตู้ MDB คือ การแสดงสถานะการทำงานของระบบไฟฟ้า โดยบริเวณหน้าตู้ MDB จะแสดงข้อมูลของการใช้งานระบบไฟฟ้าในสถานที่นั้น ๆ เช่น การใช้กระแสไฟฟ้า กำลังไฟฟ้า ระดับแรงดัน ความถี่ เป็นต้น หากเกิดปัญหาใด ๆ ผู้ใช้ก็จะทราบทันที และดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป

3. ป้องกันระบบไฟฟ้ามีปัญหา

อีกหนึ่งหน้าที่สำคัญของตู้ MDB คือ การป้องกันระบบไฟฟ้ามีปัญหา เช่น ไฟฟ้าลัดวงจร แรงดันไฟฟ้าตก กระแสไฟฟ้ารั่วลงดิน หรือแรงดันไฟฟ้าเกิน เป็นต้น โดยตู้ MDB จะตัดการทำงานทันทีเมื่อเกิดความผิดปกติ ช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ในกรณีที่มีการซ่อมบำรุงจุดจ่ายไฟเป็นจุด ๆ ตู้ MDB ยังสามารถตัดไฟฟ้าที่ตู้คอนโทรลระบบไฟฟ้าจุดที่ต้องการซ่อมบำรุงโดยที่ไม่ต้องทำการตัดไฟฟ้าทั้งระบบ ทำให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ใช้งานและเครื่องใช้ไฟฟ้า

4. ระบบไฟฟ้าสำรอง

หน้าที่สุดท้ายของตู้ MDM คือ การควบคุมระบบไฟฟ้าสำรองให้พร้อมใช้อัตโนมัติ หากมีเหตุการณ์ไฟฟ้าดับหรือไฟฟ้าตกเกิดขึ้น และจะกลับไปใช้แหล่งจ่ายไฟฟ้าหลักเมื่อแหล่งจ่ายไฟฟ้าหลักกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งการมีระบบไฟฟ้าสำรองเป็นสิ่งสำคัญมากในสถานที่ที่มีการใช้ปริมาณมาก เพราะหากไฟตกหรือไฟดับเพียงไม่กี่นาที ก็อาจสร้างความเสียหายได้

ตู้ MDB ประกอบด้วยอะไรบ้าง

ส่วนประกอบของตู้ MDB

ภายในตู้ MDB ประกอบด้วย

1. โครงตู้สวิตช์บอร์ด (Enclosure)

ทำจากโลหะแผ่นนำมาประกอบขึ้นเป็นโครง มีความแข็งแรงทนทาน ทำหน้าที่ป้องกันอุปกรณ์ภายในตู้ไม่ให้เกิดความเสียหาย ป้องกันอุปกรณ์ภายในตู้จากสิ่งต่าง ๆ เช่น น้ำ สัตว์เลื้อยคลาน ของแข็ง เป็นต้น รวมทั้งป้องกันไม่ให้ผู้ใช้งานสัมผัสกับกระแสไฟภายในตู้ โดยลักษณะของโครงตู้ MDB สามารถออกแบบได้ตามความต้องการของผู้ใช้งานเป็นหลัก เช่น ออกแบบให้บานประตูเปิดได้เฉพาะด้านหน้า หรือให้เปิดได้ทุกด้าน เป็นต้น แต่ต้องคำนึงถึงคุณสมบัติดังนี้

  • คุณสมบัติทางกล สามารถทนรับแรงดันจากภายนอกทั้งภาวะปกติ และไม่ปกติได้
  • คุณสมบัติทางความร้อน สามารถทนความร้อนจากสภาพแวดล้อม และความร้อนในระดับที่ผิดปกติอันเนื่องมาจากการลัดวงจรได้
  • คุณสมบัติต่อการกัดกร่อน สามารถทนการกัดกร่อนของสารเคมี ความชื้น และน้ำทะเล

2. บัสบาร์ (Busbar)

บัสบาร์ เป็นโลหะตัวนำไฟฟ้าที่ทำมาจากทองแดง ทองเหลือง อะลูมิเนียม ที่มีความบริสุทธิ์สูง เเบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ บัสบาร์แบบเปลือย บัสบาร์แบบทาสี โดยบัสบาร์ที่ใช้งานในตู้ MDB ทำหน้าที่รับและจ่ายกระแสไฟฟ้าปริมาณมาก ดังนั้นควรเลือกใช้บัสบาร์ที่มีคุณสมบัติทนต่อแรงไฟฟ้า มีความต้านทานต่ำ ทนทานต่อการกัดกร่อนสูง แข็งแรงทางกลสูงในด้านแรงดึง แรงอัด และแรงฉีก

ข้อแนะนําในการใช้บัสบาร์

  • บัสบาร์แบบทาสีนํากระแสได้สูงกว่าบัสบาร์แบบเปลือย
  • ควรวางบัสบาร์ในแนวดิ่ง เพราะสามารถระบายความร้อนได้ดี
  • บัสบาร์แบบ Flat ควรขนานกันไม่เกิน 4 แท่ง หากมากกว่านี้จะมีปัญหาเรื่อง Skin Effect
  • บัสบาร์แบบทาสี ควรใช้สีที่มีสัมประสิทธิ์การระบายความร้อนสูงประมาณ 0.9

3. เซอร์กิตเบรกเกอร์ (Circuit Breaker)

เซอร์กิตเบรกเกอร์ เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ตัดวงจรไฟฟ้าเมื่อตรวจพบความผิดปกติในวงจรไฟฟ้า เช่น มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านเกิดกว่าค่าที่กำหนด หรือเกิดไฟฟ้าลัดวงจร เป็นต้น และสามารถต่อวงจรได้ทันทีหลังจากแก้ปัญหาแล้ว

เซอร์กิตเบรกเกอร์ มีให้เลือกใช้ 2 แบบ คือ Air Circuit Breaker (Air CB) ใช้เป็นเมนเบรกเกอร์ในวงจรที่ใช้กระแสสูง และ Mold Case CB (MCCB) ใช้เป็นเมนเบรกเกอร์ในตู้สวิทช์บอร์ดขนาดเล็ก หรือใช้กับวงจรย่อยโดยการเลือกเบรกเกอร์ควรพิจารณาขนาดความกว้าง ยาว สูง เพื่อให้ติดตั้งในตู้ได้อย่างเหมาะสม รวมถึงควรพิจารณาค่าต่าง ๆ เช่น ค่าพิกัดกระแส (AT) การตัดกระแสลัดวงจร (IC) ค่าพิกัดกระแสโครงสร้าง (AF) และระยะเวลาในการตัดวงจร (Time) เป็นต้น

4. มิเตอร์วัดไฟฟ้า (Meter)

มิเตอร์วัดไฟฟ้าที่ใช้งานในตู้ MDB จะมี 2 แบบ คือ มิเตอร์แบบเข็มและมิเตอร์แบบดิจิทัล ใช้ในการอ่านค่าโวลต์และแอมป์ โดยใช้งานร่วมกับ Selector Switch เพื่อวัดแรงดันหรือกระแสในแต่ละเฟส หากตู้ MDB มีขนาดใหญ่จะมีอุปกรณ์เพิ่มเติม เช่น เพาเวอร์แฟคเตอร์ มิเตอร์ (P.F. Meter) วัตต์มิเตอร์ (Watt Meter) วาร์มิเตอร์ (Varmeter) เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการออกแบบ

5. อุปกรณ์ประกอบ (Accessories)

นอกจากอุปกรณ์หลักทั้ง 4 แล้ว ตู้ MDB จะต้องมีอุปกรณ์ประกอบอื่น ๆ เพื่อความปลอดภัยในการใข้งาน เช่น 

  • Selector Switch ใช้งานร่วมกับแอมป์มิเตอร์และโวลต์มิเตอร์
  • Pilot lamp หลอดไฟแสดงสถานะการทำงานของตู้ MDB
  • Current Transformer ใช้วัดค่ากระแสไฟฟ้า เป็นต้น
  • Fuse สำหรับตู้สวิตช์บอร์ด ใช้ป้องกันวงจรเครื่องวัดไฟฟ้าและหลอด Pilot Lamp รวมถึงตัดกระแสไฟออกจากวงจรเพื่อป้องกันอุปกรณ์เสียหาย
  • ฉนวนรองบัสบาร์ สำหรับตู้สวิตช์บอร์ด

มาตรฐานการติดตั้งตู้ MDB ที่ดี

  • ติดตั้งในพื้นที่ที่มีการระบายอากาศได้ดี เข้าถึงได้ง่ายเพื่อให้สะดวกต่อการบำรุงรักษาและการซ่อมแซม
  • เว้นระยะห่างจากวัตถุอื่น ๆ เพื่อความปลอดภัย และมีพื้นที่ว่างด้านหน้าตู้สำหรับการเปิด
  • ตู้ที่ต้องเปิดปฏิบัติงาน หรือบำรุงรักษาทางด้านหลัง หรือต้องระบายอากาศออกทางด้านหลัง ต้องเว้นระยะห่างที่ว่างด้านหลังตู้กับผนัง ไม่น้อยกว่า 75 ซม. ตลอดแนว 
  • ตู้ที่สามารถเข้าถึงจากด้านอื่นที่ไม่ใช่ด้านหลัง สามารถวางชิดผนังได้
  • ติดตั้งระบบเชื่อมต่อสายดินเพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร
  • เดินสายไฟอย่างเป็นระเบียบ ใช้รางเดินสาย หรือท่อร้อยสายตามความเหมาะสม
  • ติดตั้งในพื้นที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ
  • ควรติดป้าย “อันตราย ไฟฟ้าแรงสูง” ที่หน้าตู้

ตู้ MDB ถือเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ทำให้จัดการระบบไฟฟ้าภายในสถานที่นั้น ๆ ได้สะดวกมากขึ้น นอกจากนี้การใช้งานระบบไฟฟ้าย่อมมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายขึ้นได้เสมอ การมีตู้ MDB จะช่วยป้องกันปัญหาระบบไฟฟ้าที่อาจเกิดขึ้น ทำให้มีความปลอดภัยในการใช้งานมากขึ้น

TETA INTERTRADE รวบรวมอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงดันต่ำ-สูง สายไฟชนิดต่าง ๆ ทั้งสายไฟทองแดง สายไฟอลูมิเนียม พร้อมบริการให้คำปรึกษาการติดตั้งระบบไฟฟ้าโดยวิศวกรชำนาญการ โดยสามารถเลือกชมสินค้าของเราได้ที่เว็บไซต์ TETA INTERTRADE หรือสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับสินค้าและบริการต่าง ๆ ได้ที่แอปพลิเคชัน Line ทีมงานของเรายินดีให้บริการ

บทความอื่นๆที่เกี่ยวข้อง